Category Advisor, Business, Business Insights May 18, 2024 ” ความสำคัญของระบบฝึกอบรม ในธุรกิจแฟรนไชส์ “ มีคำถามสำคัญในการพัฒนาธุรกิจเข้าสู่ระบบแฟรนไชส์คือ “ทำไมเราต้องฝึกอบรมแฟรนไชส์ซี” ต้องกลับมาที่พื้นฐานของการพัฒนาสาขาในระบบแฟรนไชส์ที่มีผู้ร่วมลงทุนเชื่อมั่นในธุรกิจเราเสียก่อน เพราะแนวคิดหลักของระบบแฟรนไชส์ คือการสร้างระบบที่แข็งแรงให้นักลงทุนนำไปปฏิบัติและจัดทำธุรกิจที่เขามาลงทุนให้ประสบความสำเร็จเหมือนกับสาขาของแฟรนไชส์ซอร์ที่ดำเนินงานมา ดังนั้นการถ่ายทอดความรู้วิธีการของแฟรนไชส์ซอร์นอกจากต้องมีจัดระบบ สร้างระเบียบขึ้นมาได้แล้ว ยังต้องมีกระบวนการที่จะถ่ายทอดให้กับนักลงทุนเหล่านั้น ได้เข้าใจถึงระบบต่าง ๆ ของการปฏิบัติงาน และสามารถนำไปบริหารจัดการได้จริง 1. คุณภาพของสินค้าต้องมีความมั่นคง และสม่ำเสมอ ระบบของแฟรนไชส์ที่พัฒนาขึ้นมานั้นจะต้อง สร้างให้ธุรกิจมีความมั่นคงและสม่ำเสมอ จนสามารถนำไปสร้างใหม่ได้จริง นอกจากนั้นธุรกิจที่นำไปขยายต่อยอดเพิ่มสาขาจะต้องสามารถสร้างคุณภาพของสินค้า และการให้บริการได้ดีเสมอต้นปลาย ตามลักษณะธุรกิจหรือ ตราสินค้าที่เป็นเครื่องหมายของสัญญาที่จะนำเสนอให้ลูกค้ารับรู้ได้ นอกจากนั้นระบบธุรกิจแฟรนไชส์ที่ดีจะต้องสามารถนำผลกำไรให้นักลงทุนในทุกระดับของการดำเนินการได้จริง ดังนั้นการที่ถ่ายทอดสิ่งที่มีได้จึงมีความซับซ้อนและใช้เวลามากพอสมควรจึงจะสามารถถ่ายทอดระบบธุรกิจให้เกิดผลสัมฤทธิ์ได้จริง 2. ธุรกิจแต่ละธุรกิจมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว นอกจากนั้นระบบการฝึกอบรมจะต้องมีการจัดทำอย่างเป็นระบบมากพอ ธุรกิจแต่ละธุรกิจนั้นจะมีลักษณะเฉพาะของตัวเอง รูปแบบการทำงาน วิธีการขั้นตอนในเครื่องมือที่เรียกว่า Operation Manual นั้น แม้จะเป็นธุรกิจประเภทเดียวกันก็ยังมีความแตกต่างในรายละเอียด ยิ่งในองค์กรที่ต่างกัน วัฒนธรรมความเชื่อ ยิ่งมีความแตกต่าง ความเข้าใจในความเป็น ตราสินค้า ความเป็นมาและการให้ความสำคัญต่อส่วนต่างๆของสินค้า การบริการ ยิ่งมีความห่างจนเห็นได้ชัด เครื่องมือเครื่องใช้ การจัดการระบบข้อมูล การบริหารเงินสด ทีมงานที่ช่วยเหลือ ระบบสนับสนุนต่างๆ มีความแตกต่างและการบริหารจัดการที่เด่นชัดตามรูปแบบธุรกิจนั้น ดังนั้นต่อให้แฟรนไชส์ซี นักลงทุนเคยผ่านการทำงาน หรือ ผ่านการอบรมที่ต่างๆหรือเคยเป็นแฟรนไชส์ซีธุรกิจอื่นมาก่อน ก็มั่นใจได้เลยว่า การเข้ารับการอบรมในแต่ละธุรกิจนั้นไม่มีทางที่จะเหมือนกัน 3. วิเคราะห์ความจำเป็นของการฝึกอบรม การอบรม หรือการพัฒนาศูนย์ฝึกอบรมแฟรนไชส์ขึ้นมาเป็นเรื่องไม่ยากแต่ก็มีความซับซ้อนในระดับนึง สิ่งที่ต้องคำนึงเบื้องต้นคือ เราจะพัฒนาใครในระบบการฝึกอบรมของเรา จะเป็นนักลงทุนเอง หรือทีมงาน ของแฟรนไชส์ซี ทั้งนี้จะต้องวิเคราะห์จากความจำเป็นของระบบธุรกิจของเราเอง ไม่มีคำตอบที่เป็นมาตรฐาน และถ้าเราเข้าใจถึงความจำเป็นของทีมงานในระบบสาขาของเรา สิ่งนี้ก็จะไปกำหนดถึง รูปแบบเงื่อนไขสัญญาที่ให้ไว้กับแฟรนไชส์ซีด้วย โดยหลักการแล้ว แฟรนไชส์ซอร์จะต้องกำหนดเสียก่อนว่า จะฝึกอบรมให้ทีมงานแฟรนไชส์ซี กี่คน ในตำแหน่งอะไรบ้าง ที่จะสามารถทำให้แฟรนไชส์ซีไปดำเนินงานของตัวเองได้โดยพึ่งพาแฟรนไชส์ซอร์ ให้น้อยที่สุด การฝึกอบรมที่ผ่านจากสำนักงานใหญ่ของธุรกิจจึงเป็นเรื่องจริงจัง ขาดไม่ได้ 4. การให้ความสำคัญของระยะเวลาการฝึกอบรม สิ่งต่อมาจะต้องนำมาวางแผน คือ ใครจะเป็นคนที่รับผิดชอบการฝึกอบรม ความรู้ด้านใดบ้าง กระบวนการบริหารจัดการระหว่างการฝึกอบรมจะต้องเป็นอย่างไร และสุดท้ายคือ ระยะเวลาที่ต้องใช้ในการฝึกอบรมนานเท่าไร สำหรับระบบแฟรนไชส์ที่มีมาตรฐานมักจะใช้เวลาประมาณ 10 วันหรือ ธุรกิจที่ซับซ้อนมีกระบวนการมากก็มีที่ต้องอบรมกันหลายเดือน โดยปกติแล้วการฝึกอบรมจะแบ่งเป็นสองส่วนใหญ่ๆคือ การอบรมด้านทฤษฏีหรือหลักการทำงานต่างที่จะต้องเข้าใจเสียก่อน และการฝึกอบรมในพื้นที่ทำงานจริง และการฝึกอบรมจะต้องเสร็จสิ้นด้วยความสามารถแฟรนไชส์ซีทั้งทีมมีความเชื่อมั่นว่าจะนำสิ่งที่ได้รับรู้ไปเปิดสาขาของตัวเองได้ ธุรกิจแฟรนไชส์มีความหลากหลายทั้งประเภทธุรกิจ ขนาด ความซับซ้อน เครื่องมือการดำเนินธุรกิจที่แตกต่างกัน รวมถึงรูปแบบการให้การสนับสนุนช่วยเหลือจากแฟรนไชส์ซอร์ว่ามีมากเท่าใด ระยะเวลาการฝึกสอนทดลองทำจึงมักแตกต่างและไม่เท่ากัน 5. เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการเปิดร้าน การอบรมหรือ Training ของระบบแฟรนไชส์ถ้ามีการออกแบบมาผ่านการสร้างคู่มือปฏิบัติงานที่ดีได้แล้ว การเรียนรู้ผ่านสื่อเอกสารและผู้ฝึกสามารถใช้เป็นแนวทางในการให้ความรู้จะไม่ยากนัก เป็นไปได้ที่แฟรนไชส์ซีมือใหม่ หรือธุรกิจยังไม่เติบโตเพียงพอที่จะสร้างศูนย์การฝึกอบรม อาจจะไปใช้ผู้เชี่ยวชาญภายนอกช่วยดำเนินการให้ อย่างน้อยก็สามารถสร้างภาพลักษณ์ของธุรกิจตนเองได้ การให้การฝึกอบรมนั้นเป็นไปได้ที่จะจัดภายหลังจากการเซ็นสัญญาเรียบร้อยเสียก่อน รวมถึงการมีพื้นที่การเปิดสาขาพร้อมพัฒนาไปด้วยขณะที่ทีมงานเข้ารับการฝึกอบรม ซึ่งทั้งสองกระบวนการนี้ต้องใช้เวลาด้วยเหมือนกัน โดยการวางระยะเวลาควรไปด้วยกัน เมื่อเสร็จจากการอบรมเท่ากับร้านได้ตกแต่งพร้อมเปิดด้วย ในระหว่างการฝึกอบรมนั้น แฟรนไชส์ซอร์จะถือโอกาสประเมินความพร้อมขึ้นสุดท้ายของแฟรนไชส์ซี เป็นไปได้เหมือนกันที่แฟรนไชส์ซีขาดความเอาใจใส่ หรือไม่มีความพร้อมในการเตรียมการจะได้การยกเลิกหรือปฏิเสธการเปิดสาขา จนกว่าจะมีความพร้อมจริงๆ จึงเข้ารับการอบรมใหม่ ทั้งนี้จะต้องขึ้นอยู่กับลักษณะธุรกิจที่ออกแบบไว้เช่นกัน 6. เพื่อรองรับต่อการพัฒนาของธุรกิจอย่างต่อเนื่อง การฝึกอบรมที่เกิดขึ้นก่อนการเปิดสาขาของแฟรนไชส์ซีในครั้งแรกนั้น ไม่ได้หมายความว่า การถ่ายทอดความรู้การจัดการธุรกิจของระบบนั้นๆ จะสิ้นสุดเลย หรือ เทรนครั้งเดียวใช้ตลอดชีพ เพราะธุรกิจมักจะมีเรื่องใหม่ๆเกิดขึ้น การพัฒนาอย่างต่อเนื่องของแฟรนไชส์ซอร์ จะเกิดขึ้นเสมอและไม่หยุดอยู่กับที่ ดังนั้นการถ่ายทอดจึงมีการ Update ต่อเนื่องเสมอ อย่างน้อยการอบรมซ้ำหรือ ที่เรียกว่า Additional Training จะจัดขึ้นปีละ 1-2 ครั้ง การมีการสื่อสารของแฟรนไชส์ซอร์ผ่านรูปแบบการอบรมดังกล่าวจะทำให้ระบบงานกระชับ ทั้งความสัมพันธ์ของซอร์และซี มากขึ้น ยังทำให้ความเชื่อถือในธุรกิจแข็งแรงและยั่งยืนต้อเนื่องได้ บทความและลิขสิทธิ์ โดย ดร.พีระพงษ์ กิติเวชโภคาวัฒน์ บริษัท บิสิเนสโค้ชแอนด์คอนซัลติ้ง จำกัด