ภาพรวมระบบแฟรนไชส์ในประเทศไทย ปี 2024-2025 (พศ.2567-2568)

โดย ดร.พีระพงษ์ กิติเวชโภคาวัฒน์


จากการผ่านร้อนผ่านหนาวกับธุรกิจแฟรนไชส์ทั้งของประเทศไทยและหลายๆประเทศ ในฐานะที่ปรึกษาและคนทำงานพัฒนาธุรกิจมาเกือบ 30 ปีเข้าไปแล้ว ผมก็ยังเห็นและมองว่า ธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยยังคงแสดงศักยภาพทางเศรษฐกิจที่น่าทึ่ง ทั้งที่พวกเราอยู่ในท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน

หากเรามองภาพกว้างๆทั่วโลกในปี 2023 ที่ผ่านมา ธุรกิจแฟรนไชส์ทั่วโลกสามารถสร้างรายได้รวมกว่า 4.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ตลาดแฟรนไชส์ประเทศไทยเองก็เติบโตอย่างรวดเร็วด้วยมูลค่ากว่า 300,000 ล้านบาท ทั้งที่เมื่อไม่ถึง 10 ปีก่อนนี้มูลค่าไม่ถึงสองแสนล้านเท่านั้น ก็ต้องบอกได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เกิดจากการสนับสนุนที่แข็งแกร่งจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนช่วยผลักดันให้ธุรกิจแฟรนไชส์กลายเป็นตัวเลือกยอดนิยมสำหรับผู้ที่ต้องการเข้าสู่โลกของการเป็นเจ้าของธุรกิจ

ถ้าเราเจาะลึกขึ้นอีกนิด จะเห็นว่าธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้ผมจะขออนุญาตอ้างอิงจากข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ที่มีเอกสารเผยแพร่จากสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ที่ปีนี้ทำได้อย่างยอดเยี่ยม จากการวิจัยได้ระบุว่า ในปี 2567 มีธุรกิจแฟรนไชส์ที่จดทะเบียนกับกรมฯ จำนวน 531 แบรนด์ และมีสาขารวม 59,077 สาขา อย่างไรก็ตาม เมื่อรวมถึงธุรกิจแฟรนไชส์ที่ไม่ได้จดทะเบียนกับกรมฯ คาดว่ามีจำนวนแบรนด์มากกว่า 660 แบรนด์ และมีสาขารวมกว่า 95,000 สาขา  ในปี 2566 ธุรกิจแฟรนไชส์ไทยมี มูลค่าการลงทุนประมาณ 119.82 ล้านบาท และมีจำนวนธุรกิจแฟรนไชส์ 609 ธุรกิจ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.33 จากปี 2565 ที่มี 552 ธุรกิจ

สรุปชัดๆ ก็คือ ปี 2567 มูลค่าการค้าของธุรกิจแฟรนไชส์ปัจจุบันมีมากกว่า สามแสนล้าน และมีการลงทุนมากกว่า ร้อยล้านต่อปี เติบโตขึ้นอีกประมาณ 10%  

เราก็พอจะมองเห็นการเติบโตของธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยสะท้อนถึงความนิยมและศักยภาพของตลาด ซึ่งมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายย่อย  แฟรนไชส์เป็นมากกว่าประตูสู่การเริ่มต้นธุรกิจสำหรับผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ แต่มันยังเป็นโอกาสในการสร้างธุรกิจที่มั่นคงด้วยระบบสนับสนุนที่แข็งแกร่งจากแฟรนไชส์ซอร์ ผู้ประกอบการที่มีเงินทุนและต้องการลดความเสี่ยงจากการเริ่มต้นธุรกิจใหม่สามารถพึ่งพา Know-How ด้านการตลาดและการดำเนินธุรกิจที่ได้รับจากแฟรนไชส์ เพื่อช่วยให้ธุรกิจสามารถเริ่มต้นได้ง่ายขึ้นและเติบโตอย่างมั่นคง

การพัฒนาระบบธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทย

เราสามารถวิเคราะห์การแบ่งยุคของการพัฒนาระบบแฟรนไชส์ของประเทศไทยในระยะ 30 ปีที่ผ่านมาได้ชัดเจน  โดยประกอบจากข้อสังเกตรูปแบบการพัฒนาของธุรกิจแฟรนไชส์ในหลายประเทศทั่วโลกเช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป และออสเตรเลีย ที่ปัจจุบันมีการขยายแฟรนไชส์สู่ต่างประเทศมากมาย ประเทศเหล่านั้นต่างจะผ่านขั้นตอนเช่นเดียวกัน คือ

ยุคแรกของระบบแฟรนไชส์จะเป็นยุคที่มีธุรกิจขนาดเล็กพัฒนาธุรกิจตนเองด้วยระบบขยายสาขาผ่านการให้สิทธิ์แฟรนไชส์ หรือเป็นธุรกิจรูปแฟรนไชส์ที่เรียกว่า Product Franchise เป็นหลักและมีการพัฒนาที่ซับซ้อนมากขึ้น

ยุคต่อมาของการพัฒนาแฟรนไชส์คือ ยุคที่ระบบการขยายงานลักษณะนี้เป็นกลยุทธ์ธุรกิจที่สำคัญทั้งของบริษัทขนาดกลางและใหญ่ใช้ในการขยายธุรกิจตัวเอง ความสำคัญของช่วงนี้คือ การสร้างข้อกำหนดที่เหมาะสมกับการรักษาความสมดุลระหว่างผู้ลงทุนและเจ้าของธุรกิจ ยุคนี้จะเริ่มมีหน่วยงานด้านการเงินเข้ามาสนับสนุน การพัฒนาพื้นที่ที่มีการวางการขยายตัวให้กับระบบแฟรนไชส์ไปด้วย ความเข้าใจในการเลือกลงทุนขนาดธุรกิจรวมถึงความเข้าใจของผู้บริโภคในธุรกิจที่เป็นระบบสาขาชัดเจนขึ้น และประเทศไทยก็มีลักษณะการพัฒนาเข้าสู่ยุคนี้เช่นกัน

ยุคที่สามต่อมาที่ถือเป็นขีดขั้นการพัฒนาระบบแฟรนไชส์คือ การส่งออกระบบธุรกิจแฟรนไชส์ระหว่างประเทศ มีการขยายธุรกิจสาขานับพันสาขา และกระจายสู่หลากหลายประเทศ ระบบการตลาด การควบคุมคุณภาพและการจัดการแฟรนไชส์จะกลายเป็นหัวใจการจัดการที่สำคัญ ซึ่งประเทศที่มีการพัฒนาได้อย่างรวดเร็วคือ สาธารณะประชาชนจีน ที่มีการจับตลาดระบบแฟรนไชส์ระดับกลางและเน้นการขยายตัวรวดเร็วโดยอาศัยระบบธุรกิจที่ควบคุมจากต้นทางผ่านวัตถุดิบที่สำคัญ เน้นการจัดการไม่ซับซ้อนมากนักและสร้างระบบต้นทุนของธุรกิจได้ดี ทำให้การขยายการลงทุนรวดเร็ว ระบบแฟรนไชส์ใจถึงแบบจีนนี้แซงหน้าระบบแฟรนไชส์แบบญี่ปุ่นที่เรียกกว่า ตกฟอร์มไปอย่างน่าเสียดาย

สำหรับในปี 2025 ธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยมีแนวโน้มที่น่าสนใจหลายด้าน

ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มยังคงเป็นหมวดหมู่ที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง โดยเฉพาะในรูปแบบ Fast-Casual Dining ที่เน้นคุณภาพและความสะดวกรวดเร็ว นอกจากนี้ อาหารเพื่อสุขภาพและคาเฟ่ที่มีบรรยากาศอบอุ่นยังคงตอบโจทย์ผู้บริโภคที่มองหาประสบการณ์พิเศษ

สำหรับหมวดธุรกิจด้านการบริการ (Services Business) ที่เป็นอีกหมวดหมู่หนึ่งที่น่าจับตามองคือบริการปรับปรุงและบำรุงรักษาบ้าน ซึ่งตอบสนองความต้องการของเจ้าของบ้านที่ต้องการเพิ่มความสะดวกสบาย เช่น บริการทำความสะอาด ซ่อมแซมบ้าน และจัดสวน ธุรกิจเหล่านี้ใช้ต้นทุนเริ่มต้นต่ำ แต่มีโอกาสสร้างรายได้ที่มั่นคงจากความต้องการที่ต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรทำให้ธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุมีแนวโน้มเติบโตอย่างมาก การดูแลผู้สูงอายุที่บ้านและศูนย์ดูแลเฉพาะทางเป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย

อีกหนึ่งในธุรกิจด้านบริการนั้นคือ การเติบโตของธุรกิจที่เกี่ยวกับสุขภาพและเวลเนส ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสุขภาพกายและจิตใจมากขึ้น ทำให้ธุรกิจที่เน้นการออกกำลังกาย โยคะ และอาหารเพื่อสุขภาพได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น อีกทั้งบริการโค้ชชิงด้านสุขภาพและการบำบัดแบบองค์รวม เช่น การฝังเข็ม ก็เริ่มมีบทบาทสำคัญในตลาด และที่ไม่น้อยกว่ากันคือ ธุรกิจด้านบริการทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตสมัยใหม่ที่เร่งรีบ ต้องการผู้ช่วยเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต กลายเป็นธุรกิจจำเป็นเกิดการขยายตัวการบริหารจัดการที่ต้องมีความเชื่อถือได้เกิดขึ้น

นอกจากนั้นในด้านเทคโนโลยี บริการ IT Support และโซลูชันอีคอมเมิร์ซเป็นอีกหนึ่งหมวดหมู่ที่น่าจับตามอง ที่มีการเติบโตเล็กๆ แต่น่าจับตามองเป็นอีกช่องว่างของระบบแฟรนไชส์ ธุรกิจเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยเสริมศักยภาพให้กับธุรกิจรายย่อย แต่ยังตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ใช้ชีวิตในยุคดิจิทัล ธุรกิจติดตั้งและดูแลระบบสมาร์ตโฮมก็เป็นอีกโอกาสที่กำลังขยายตัว เนื่องจากเทรนด์การทำงานจากที่บ้านยังคงได้รับความนิยม เพียงแต่จะต้องมีการออกแบบระบบธุรกิจที่ถูกต้องเข้ามามีส่วนในการพัฒนาธุรกิจให้ดีตั้งแต่เริ่มต้นเสียก่อน

ตลาดแฟรนไชส์ในต่างจังหวัดยังเป็นขุมทองที่มีศักยภาพสูง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการเติบโตของคอมมูนิตี้มอลล์และย่านที่อยู่อาศัย กำลังซื้อในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และผู้ประกอบการรุ่นใหม่เริ่มหันมามองธุรกิจแฟรนไชส์เป็นช่องทางเพิ่มรายได้ ธุรกิจที่มีระบบจัดการง่ายและตอบสนองความต้องการของตลาดในพื้นที่สามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจที่ยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจแฟรนไชส์ยังคงเผชิญความท้าทายสำคัญ เช่น การขาดประสบการณ์ของแฟรนไชส์ซอร์ การแข่งขันที่สูง และความจำเป็นในการปรับตัวสู่เทคโนโลยีใหม่ การสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งและสามารถแข่งขันได้ในตลาดก็เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญ

ด้วยแนวโน้มเหล่านี้ การลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ยังคงเป็นโอกาสที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่พร้อมปรับตัวและเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มต้นธุรกิจแฟรนไชส์ของตนเองหรือการซื้อสิทธิ์ในแบรนด์ที่น่าเชื่อถือ หากผู้ประกอบการสามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยก็จะเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

วิเคราะห์ธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทย แบ่งตามกลุ่มประเภทธุรกิจ

โดย ดร.พีระพงษ์ กิติเวชโภคาวัฒน์


ธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยมีความหลากหลายและศักยภาพในการเติบโตสูง โดยสามารถแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม, บริการ, ค้าปลีก, และ อื่น ๆ

คาดการณ์ว่าจะมีธุรกิจแฟรนไชส์ของประเทศไทยในระบบไม่น้อยกว่า 600 - 650 ธุรกิจในปี 2025  แต่จะไม่ขยายตัวมากนัก อยู่ในระหว่าง 5-10% เท่านั้น และจะมีปัญหาของระบบธุรกิจเดิมที่มีการปิดตัวลงไปด้วยซึ่งเราเรียกว่า Failure Rate หรือ อัตราปิดตัวของธุรกิจแฟรนไชส์ซอร์เอง จากจำนวนธุรกิจที่มีอยู่เดิมลดลงไปไม่น้อยกว่า 10% ตามสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านๆมา ทำให้จำนวนขยายกับจำนวนที่ปิดตัว อยู่ในอัตราใกล้เคียงกัน จำนวนธุรกิจจึงเหมือนอยู่กับที่ไปด้วย

1. อาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage)

กลุ่มนี้น่าจะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นมากกว่า 10% มีจำนวนไม่น้อยกว่า -250-300 ธุรกิจ แฟรนไชส์กลุ่มนี้เป็นหมวดหมู่ที่ได้รับความนิยมสูงสุด เนื่องจากตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยที่ให้ความสำคัญกับอาหาร มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในตลาดทั้งในเมืองและต่างจังหวัด

ปัจจัยที่ส่งผลให้มีการขยายตัวมากจาก การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภค เช่น ความต้องการอาหารสุขภาพ การขยายตัวของคาเฟ่และร้านอาหารแนว Fast-Casual Dining ที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ การเพิ่มขึ้นของเดลิเวอรีและการสั่งซื้อออนไลน์ รวมถึงการขยายสาขาในต่างจังหวัดและชุมชนเมือง ความท้าทาย: การแข่งขันสูงและความจำเป็นในการสร้างจุดขายที่แตกต่าง ตลาดในจังหวัดใหญ่จะมีการสร้างระบบแฟรนไชส์ที่เข้มแข็งเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในปีที่จะถึงนี้อย่างแน่นอน ธุรกิจจากส่วนกลางกรุงเทพนั้นมีปัจจัยหลายอย่างเหลือเกิน ที่ทำให้นักธุรกิจส่วนกลางชะงักการลงทุนเรื่องแฟรนไชส์ไปอย่างน่าเสียดาย

2. บริการ (Services)

คาดการว่าหมวดนี้น่าจะมีนักลงทุนพัฒนาระบบไม่น้อยกว่า 150 ธุรกิจ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในเมืองใหญ่โดยเฉพาะกทม เนื่องจากพฤติกรรมของกลุ่มตลาดเป้าหมายรองรับได้ดี หมวดหมู่นี้ครอบคลุมบริการเฉพาะทาง เช่น ซักอบรีด, ดูแลสุขภาพ, และการศึกษา มีการเติบโตในงานพิมพ์ การจัดสวน การบริการเฉพาะด้าน ธุรกิจซ่อมแซมบ้าน เช่น ระบบไฟฟ้า ประปา ธุรกิจบริการจัดสวนและดูแลสนามหญ้า เป็นลักษณะของธุรกิจบริการที่ ตอบสนองความสะดวกของผู้บริโภค

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเติบโต: ความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับบริการด้านสุขภาพและการดูแลผู้สูงอายุ การมองหาการพัฒนาทักษะในกลุ่มเด็กและเยาวชน นอกจากนั้น ตลาดฐานของกลุ่มผู้สูงอายุและงานบริการที่เชื่อมโยงกับไลฟ์สไตล์ดิจิทัล เช่น IT Support และสมาร์ตโฮม เป็นต้น

3. ค้าปลีก (Retail)

โอกาสการพัฒนาธุรกิจนี้อาจจะมีจำนวนน้อยแต่จะมีสาขามากกว่าธุรกิจอื่น คาดว่าจะมีธุรกิจกลุ่มนี้รวมไม่น้อยกว่า 60-80 ธุรกิจ ธุรกิจแฟรนไชส์ค้าปลีกในไทยเน้นการขายสินค้าในชีวิตประจำวันและร้านสะดวกซื้อ มีการขยายตัวในพื้นที่ชุมชนและเมืองรอง ความสะดวกในการเข้าถึงสินค้า การขยายตัวของคอมมูนิตี้มอลล์และพื้นที่อยู่อาศัย การตอบสนองความต้องการสินค้าในพื้นที่ชนบทและชุมชน สิ่งที่ต้องปรับตัวคือเรื่องค่าเช่าพื้นที่ที่สูงและการแข่งขันกับร้านค้าออนไลน์

3. ธุรกิจหมวดอื่น ๆ (Other Categories)

กลุ่มนี้เริ่มมีการพัฒนาหลากหลายและมีมากขึ้นในระยะ 2-3 ปีนี้เห็นได้อย่างชัดเจน คาดว่าน่าจะมีธุรกิจไม่น้อยกว่า 80-100 ธุรกิจ หมวดหมู่นี้รวมธุรกิจเฉพาะทางที่ไม่อยู่ในกลุ่มข้างต้น เช่น ธุรกิจโรงแรม การบริหารจัดการอพาทเมนท์ การจัดการบัญชีองค์กร ธุรกิจรับบริหารงานด้านบุคคล รับบริหารนิติบุคคล ธุรกิจบริหารการเช่ารถยนต์ ธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ หรือแม้กระทั่งธุรกิจการรับจ้างบริหารการขาย นายหน้า การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้จ่าย เช่น การลงทุนในบ้านและพื้นที่ส่วนตัว กลายเป็นความต้องการบริการเฉพาะทางในกลุ่มลูกค้าเฉพาะขึ้นมา สิ่งที่ต้องทำคือ การให้ความรู้กับตลาดที่ยังไม่ได้รับการพัฒนา หรือเข้าใจต่อการใช้บริการ เช่น การเปิดธุรกิจบริการดังกล่าวในพื้นที่ชนบท  และที่สำคัญคือ จะต้องเน้นการสร้างความเชื่อมั่นในแบรนด์และการขยายตลาด ไปพร้อมๆกัน

จากข้อมูลข้างต้นที่ปีนี้ ผมไม่แยกประเภทธุรกิจเป็นกลุ่มเล็กจากที่เคยทำการวิเคราะห์ที่ผ่านมา ซึ่งแต่เดิมได้มีการแบ่งกลุ่มธุรกิจมีอยู่ประมาณ 10-12 กลุ่มธุรกิจ กลายเป็นการแบ่งกลุ่มใหญ่ตามประเภทของระบบธุรกิจหลัก เพราะการแยกรูปแบบย่อยลงไปนั้นไม่สามารถมาใช้กับระบบแฟรนไชส์ยุคสาม ที่เริ่มมีการขยายตัวมากกว่าเดิมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งถ้าทำอย่างนั้นจะเป็นว่ามีธุรกิจแยกย่อยเกินกว่า 50 แบบขึ้นไป ซึ่งเกินจำเป็นและสับสน  ภาพรวมของแนวโน้มจำนวนธุรกิจแฟรนไชส์ของไทยจะมีโอกาสมากกว่า 800 ธุรกิจในอนาคตอันใกล้ก็เริ่มเป็นจริง  ข้อดีเหล่านี้ก็คือ บัดนี้เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่าธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยมีศักยภาพในการเติบโตอย่างเห็นได้ชัดในทุกกลุ่ม หากนักลงทุนสามารถจับจุดเด่นของแต่ละกลุ่มและตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างเหมาะสม ธุรกิจแฟรนไชส์จะยังคงเป็นหนึ่งในทางเลือกการลงทุนที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในกลุ่มที่เน้นนวัตกรรม สุขภาพ และบริการเฉพาะทาง ซึ่งยังคงเป็นกระแสหลักของตลาดในปัจจุบันและอนาคต

บทความโดย : ดร.พีระพงษ์ กิติเวชโภคาวัฒน์ (CFE)

สนใจปรึกษาธุรกิจ ติดต่อสอบถาม : 080-550-2134, 099-615-2647

Line : @coachandconsulting